คำที่ควรรู้เกี่ยวกับการขอสินเชื่อบ้าน สำหรับนักลงทุนมือใหม่
เคยสงสัยกับคำย่อเช่น MRR, MMR หรือ MLR กันบ้างหรือไม่ คำเหล่านี้คุณจำเป็นต้องรู้หากกำลังวางแผนยื่นขอสินเชื่อบ้านกับสถาบันการเงิน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋าของคุณโดยตรง สำหรับนักลงทุนมือใหม่ Taladnudbaan มีคำอธิบายแบบเข้าใจง่ายมาบอกกัน
MRR คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ใช้สำหรับเงินกู้ทุกประเภทที่มีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น โดยเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้มากที่สุดในการให้สินเชื่อ
MLR คืออัตราดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา โดยผู้กู้จะต้องมีประวัติการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มากพอ
MOR คืออัตราดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือการเบิกเงินทางโอดี โดยจะประเมินจากคุณสมบัติผู้กู้ เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน
ข้อแตกต่างของ MRR, MLR และ MOR
MRR มีโอกาสที่คนทั่วไปจะผ่านง่ายกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงและความผันผวนพอสมควร ทำให้ดอกเบี้ยสูงกว่า MLR และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ง่ายกว่า
ธนาคารจะเรียกเก็บดอกเบี้ย MRR จากลูกค้ารายย่อยชั้นดี และเรียกเก็บดอกเบี้ย MLR และ MOR จากลูกค้ารายใหญ่
MLR สำหรับลูกค้าทั่วไป ธนาคารจะเสนอให้ก็ต่อเมื่อเป็นการกู้สินเชื่อระยะยาวที่มีกำหนดเวลาแน่นอน
MRR และ MLR ธนาคารมักใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เพราะมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน บางที MRR ของธนาคารใหญ่บางแห่งอาจเท่ากับ MLR ของธนาคารขนาดกลางบางแห่ง
MOR ธนาคารส่วนใหญ่มักใช้อัตราดอกเบี้ยชนิดนี้กับกรณีสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งคือวงเงินเบิกเกินบัญชี ที่ทำผ่านบัญชีกระแสรายวัน ส่วนใหญ่ใช้เช็คในการเบิกถอน
อัตราดอกเบี้ย MRR จะสูงที่สุด อันดับสองคือ MOR และตามด้วย MLR โดยส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR จะเป็นตัวสะท้อนระดับความเสี่ยงที่ต่างกันระหว่างลูกค้ารายใหญ่กับรายย่อย
การคาดเดาอัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะหากกู้ในระยะยาว จากสถิติธนาคารรายใหญ่ที่ผ่านมา ยิ่ง MLR สูงขึ้น ช่องว่างระหว่าง MLR และ MRR ก็จะมากขึ้น และหาก MLR ลดต่ำลงช่องว่างระหว่าง MLR และ MRR จะแคบลงเช่นกัน
จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ย MRR, MOR และMRL เป็นตัวแปรที่มีผลต่อการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และแต่ละธนาคารก็จะมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน เพื่อการวางแผนการเงินที่ดี อย่าลืมอัพเดท และเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดสำหรับคุณ