ดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้บ้านจัดการอย่างไรให้หมดไว
🎯 เมื่อเร็วๆ นี้ กนง.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% ต่อปีเป็น 2.25% นับว่าสูงสุดในรอบ 9 ปีทีเดียว ดังนั้นใครมีหนี้บ้านอยู่ก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง จะมากน้อยต่างกันแล้วแต่ข้อตกลงเรื่องการคิดดอกเบี้ย ใครได้รับผลกระทบแบบไหน และจะมีเทคนิคในการจัดการหนี้บ้านในช่วงเวลานี้อย่างไร “ตลาดนัดบ้านมือสอง” หาคำตอบมาให้แล้ว
✅ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) กลุ่มนี้อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก หลังจากนั้นจึงค่อยปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว จึงยังพอมีเวลาปรับตัวและมองหาเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีกว่า
✅ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะค่างวดที่ชำระในแต่ละเดือนจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น ตามอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เหลือเงินมาตัดเงินต้นน้อยลง ระยะเวลาในการเป็นหนี้ก็เพิ่มมากขึ้น
🎯 เทคนิคจัดการหนี้บ้านให้หมดไวเมื่อดอกเบี้ยขาขึ้น
✅ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้
เมื่อมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดการเรื่องรายจ่ายกับรายได้ให้รัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ไม่ควรจ่าย เช่น ค่ากาแฟ ค่าช้อปปิ้ง จากนั้นก็ต้องคิดหารายได้เพิ่มหรือรายได้เสริมจากรายได้ประจำ เพื่อให้มีเงินเหลือไปโปะหนี้เพิ่ม ซึ่งจะเป็นวิธีที่ทำให้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น และยังประหยัดดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายด้วย
✅ เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับลดดอกเบี้ย
การเจรจาต่อรองเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพราะหนี้บ้านส่วนใหญ่จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ย 2 ช่วง คือในช่วงแรกคิดดอกเบี้ยต่ำและมักเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ และช่วงที่สองจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวที่แพงกว่าช่วงแรก ดังนั้นเมื่อเราผ่อนไปจนใกล้จะถึงช่วงที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว ก็สามารถยื่นเรื่องเจรจาเพื่อขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย เช่น เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว โดยควรเตรียมตัวขอเจรจาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญาจะถูกปรับเป็นแบบลอยตัว
✅ รีไฟแนนซ์ไปสถาบันการเงินอื่น
เป็นวิธีที่คนกู้ซื้อบ้านมักทำกัน คือทุก 3 ปี หลังจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ใกล้หมดโปรโมชั่น ก็จะทำการรีไฟแนนซ์ไปยังสถาบันการเงินอื่นที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าและมีเงื่อนไขที่ดีกว่า แต่มีข้อควรระวังอยู่บ้างตรงที่ต้องตรวจสอบต้นทุนแฝงต่างๆ ว่าคุ้มหรือไม่ เช่น ค่าเบี้ยปรับชำระก่อนครบกำหนด (Prepayment fee), ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจดจอง ฯลฯ ควรศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบจนแน่ใจว่าการรีไฟแนนซ์ของคุณคุ้มค่าจริงๆ ค่อยตัดสินใจ
📌 แม้ดอกเบี้ยจะขึ้นแต่หากคุณมีการบริหารจัดการที่ดี และไม่นิ่งนอนใจ หนี้บ้านก็หมดไวได้ไม่ยาก ใครมีหนี้บ้านอยู่ตอนนี้อย่าลืมตรวจสอบสัญญาว่าใกล้ปรับเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวหรือยัง ถ้าใกล้แล้วเตรียมตัวเลย
#ตลาดนัดบ้านมือสอง
#ให้การมีบ้านเป็นเรื่องง่าย
#การเงินการลงทุน
#สินเชื่อบ้าน