คอนโดนิคมฯ ชลบุรีฟื้นแรงงานแฝงหนุนดีมานด์ซื้อ
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด วิเคราะห์ว่า ตลาดอสังหาฯ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) มีผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการจำนวนมากตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวโครงการ และอยู่ระหว่างการขายในพื้นที่ บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, อมตะซิตี้ ชลบุรี อ.เมืองชลบุรี และ อ.ศรีราชา-แหลมฉบัง จ.ชลบุรี รวม 9,495 หน่วย มูลค่า 35,000 ล้านบาท จากผลการสำรวจพบว่าเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อในทำเลนี้ เป็นทั้งกลุ่มนักลงทุนและพนักงานที่ทำงานอยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรม ที่มีรายได้เฉลี่ย 20,000-50,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังพบว่าแต่ละปี มีแรงงานแฝงเข้ามาในนิคมฯ จ.ชลบุรี 100,000 คน โดยประมาณ 10% หรือ 10,000 คนอยู่ในนิคมฯ อมตะ
ขณะที่การซื้อเพื่อการลงทุนอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5-6 % โดยค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500-9,000 บาทต่อหน่วย สำหรับห้องชุดขนาด 26-30 ตร.ม.โดยความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในทำเล EEC สูง อัตราการเช่าอะพาร์ตเมนต์ และเซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ มีสัดส่วนเฉลี่ย 80-90% สะท้อนถึงความต้องการที่พักอาศัย จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อเพื่อการลงทุนและปล่อยเช่า
นอกจากนี้ปี 2567 บริษัทมีแผนเปิดโครงการที่ จ.อยุธยา พร้อมกับแตกแบรนด์ใหม่ออกมาเพื่อรองรับกลุ่มนักศึกษา ในทำเลใกล้กับมหาวิทยาลัยเพื่อขยายฐานลูกค้า ที่ต้องการลงทุนปล่อยเช่า นอกเหนือจากทำเลในนิคมต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มนักลงทุน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ จึงไม่มีปัญหาการถูกปฏิเสธสินเชื่อเพียงแต่ว่าต้องพัฒนาโครงการในทำเลที่มีศักยภาพในการปล่อยเช่า
นายโอภาส ศรีพยัคย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขาย 13,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้แล้ว 7,000 ล้านบาท เกินกว่า 50% ของเป้าหมายทั้งปี ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่อีก 12 โครงการ เป็นโครงการแนวราบ 10 โครงการ และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ ด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้ ตั้งเป้า 7,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.
มียอดขายรอโอน (Backlog) 2,750 ล้านบาท มาจากโครงการคอนโด จำนวน 2,360 ล้านบาท คิดเป็น 85% และมาจากโครงการแนวราบ จำนวน 390 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของยอดขายรอโอนทั้งหมด ซึ่งจะทยอยรับรู้รายในปี 2566 และ 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว โดยปัญหาเร่งด่วนที่น่าจะให้ความสำคัญในการแก้ไขก่อน คือ 1. การท่องเที่ยว ซึ่งทำได้ง่าย เร็ว และเห็นผลทันที 2. ภาคการส่งออก และ 3. ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการต่างๆ น่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่เดือน ต.ค. หรือ พ.ย.นี้เป็นต้นไป
Reference: หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ