รถไฟฟ้ารางเบา-ไมโครบัสไฟฟ้า ดันขอนแก่นสมาร์ทซิตี้

02 Mar 2022 747 0

           ในเร็วๆ นี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบขนส่งสาธารณะของ จ.ขอนแก่น โดย 2 โปรเจคใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ คือ ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาที่เตรียมทดลองวิ่ง ในช่วงกลางปี 2565 และไมโครซิตี้บัสไฟฟ้า ที่จะมาทดแทนไมโครบัสประจำทาง

          ทั้งรถไฟฟ้ารางเบาและไมโครซิตี้บัสไฟฟ้า เป็นผลงานวิจัยพัฒนาโดยมหาวิทยาลัย ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ดำเนินการ ร่วมกับภาคเอกชนหลักคือ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย ได้รับทุนสนับสนุน จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

          หนุนคมนาคมแห่งอนาคต

          รศ.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบ ระบบรถไฟฟ้ารางเบาดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ผลิตได้ ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าขบวนรถไฟ และอะไหล่จากต่างประเทศ และเป็นการ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถวิจัย พัฒนาและออกแบบการผลิต ขบวนรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้เองภายในประเทศ

          อีกทั้งเพื่อรองรับความต้องการด้าน การขนส่งทางรางในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการ ในไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  รวมทั้งมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน อยู่แล้ว ผลสำเร็จในการสนับสนุนทุนในปีแรก ทำให้ได้ต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจัดแสดงบริเวณสถานีขนส่งปรับอากาศจังหวัดขอนแก่นในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ จนถึงวันที่ 6 มี.ค.นี้ ที่สำคัญ

          การสนับสนุนทุนวิจัยนี้ บพข.เล็งเห็นความต้องการและศักยภาพของประเทศในการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบ คมนาคมแห่งอนาคต (Future Mobility) ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อสร้างให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่วางตำแหน่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ของอาเซียน (ASEAN EV HUB)

          นวัตกรรมไทยทดแทนนำเข้า 100%

          ไพวรรณ เกิดตรวจ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ชิ้นส่วนทั้งหมดของรถไฟฟ้ารางเบานี้ สามารถผลิตได้ภายในประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โดยต่อยอดมาจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ได้ชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

          ไม่ว่าจะเป็น โบกี้ ตัวถัง มอเตอร์ลากจูง อินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อนระบบปรับอากาศ แพนโตกราฟ ระบบจ่ายไฟฟ้าเสริมอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางและหมอนคอนกรีตอัดแรงผสมยางพารา โดยร่วมทำวิจัยกับภาคเอกชน ซึ่งนอกจาก บมจ.ช ทวี ก็ยังมีบริษัท โทเทิ่ล อินโนโลยี จำกัด และ หจก.เทพประทานพรวัสดุภัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพในการขยาย สายการผลิตที่มีอยู่เดิมไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรถไฟฟ้ารางเบา

          งานวิจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มบุคลากร ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัย การออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนทางด้านระบบราง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าฯ ในต่างจังหวัดในหลายเส้นทาง เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

          หลังจากประกอบต้นแบบแล้วเสร็จแล้วจะมีการทดสอบการทำงานตามฟังก์ชัน ทดสอบคุณลักษณะทางกล คุณลักษณะ ทางไฟฟ้าที่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานในประเทศ เช่น ที่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง เพื่อนำข้อมูลการทดสอบไปปรับปรุงคุณภาพ

          หลังจากนั้นจะนำชิ้นส่วนต้นแบบมาประกอบรวมกันเป็นขบวนรถไฟฟ้ารางเบา ต้นแบบ และทดสอบวิ่งในพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ และบริเวณรอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการ รถไฟฟ้ารางเบา LRT ที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางวิ่ง

          รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่บริเวณ รอบสถานี (TOD) ตลอดทั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ในเส้นทาง สำราญ-ท่าพระ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) ที่จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี

          เฟซบุ๊ก บพข.เผยแพร่เผยแพร่บทสัมภาษณ์อาจารย์ไพวรรณถึงความเหมาะสมของรถไฟฟ้ารางเบาสำหรับระบบขนส่งในขอนแก่น ระบุว่า ขอนแก่นเป็นเมืองรอง ของประเทศ ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม ควรจะเป็นอะไรที่มีต้นทุนการก่อสร้าง ไม่สูงมาก อย่าง LRT ซึ่งไม่สูงมากเมื่อเทียบกับ BTS และ MRT

          “นี่เป็นโครงการยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งมีแผนจะสร้างรถไฟฟ้ารางเบาอยู่แล้ว  มีแผนที่จะเสร็จปี 2565 จังหวะนั้นโครงการของขอนแก่นน่าจะเริ่มก่อสร้าง จะเป็นรูปเป็นร่าง พอเสร็จโครงการนี้ บริษัทช ทวี ที่เป็นผู้ร่วมทุนวิจัยหลักของโครงการ จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยตรงนี้ ไปผลิตและส่งรถให้ KKTS ต่อไป”

          รอชมโฉมใหม่ไมโครบัสไฟฟ้า

          สมสมัย บุญก้อน ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บมจ.ช ทวี กล่าวถึงการออกแบบไมโครบัสไฟฟ้าว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบตัวถัง ซึ่งเป็นพื้นฐาน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงเป็นเรื่อง ที่ลงตัวกับโครงการวิจัยออกแบบ ไมโครซิตี้บัสไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยได้รับทุน สนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นการวิจัยพัฒนารถต้นแบบที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงานแบบผสมระหว่าง แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและอัลตร้า คาปาซิเตอร์ สำหรับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง

          คอนเซปต์ของโครงการนี้จะสร้าง ไมโครบัสไฟฟ้าเพื่อวิ่งคู่ขนานกับไมโครบัส รุ่นเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงสันดาป จากนั้นในอนาคตจะเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ไม่มีมลพิษทางอากาศ อีกทั้งออกแบบตัวรถให้มีความทันสมัย ดูโปร่ง ให้ความรู้สึกถึงความปลอดภัย สามารถวิ่งให้บริการในซอยขนาดเล็กและวิ่งได้ระยะทาง 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button