อีอีซีผนึกเขตเศรษฐกิจจีบีเอ
ขนทัพลงทุนไทย5.2หมื่นลบ.
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวในการประชุมความร่วมมือภาคธุรกิจเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-ฮ่องกงมาเก๊า หรือจีบีเอ กับอีอีซี จัดโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งร่วม กับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มณฑลกวางตุ้ง หรือซีซีพีไอที มีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหวัง เว่ย โจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และผู้แทนจากรัฐ นักธุรกิจไทยและจีนกว่า 200 คนร่วมงาน ว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า โลจิสติกส์ พลังงานสะอาด ที่สำคัญยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้อีอีซีได้วางยุทธศาสตร์และกรอบความร่วมมือไทยจีน ทั้งการเชื่อมต่ออีอีซีและจีบีเอ ให้ขยายการค้าการเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีน และการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ด้วย
ขณะเดียวกันในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือใน 10 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 52,000 ล้านบาท ซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในอีอีซี และในไทย เช่น โครงการข้อตกลงกรอบความร่วมมือเขตอุตสาหกรรมกวางตุ้งของไทย มูลค่าลงทุน 11,000 ล้านบาท, โครงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่าลงทุน 5,000 ล้านบาท, โครงการการค้าโภชนาการอาหารและกรดอะมิโน มูลค่าลงทุน 5,000 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่และศูนย์การผลิต GAC Aian ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย มูลค่าลงทุน 5,000 ล้านบาท, โครงการกรอบข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกยาแผนจีนและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท เป็นต้น
นายจุฬา กล่าวถึงการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ว่า ได้รายงานให้ ครม. รับทราบเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากคณะกรรมการอีอีซี ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการแก้ปัญหาเหตุการณ์ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยในเรื่องของการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิในโครงการ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แทนที่จะจ่ายก้อนเดียว บอร์ดอีอีซี ได้ขยายให้ชำระออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค. ของแต่ละปี โดยในงานที่ 1 เอกสารสัญญาได้ระบุ ไว้ว่า ต้องชำระวันที่ 24 ต.ค. 64 แต่ไม่มีการเริ่มชำระ เป็นผลให้งวดที่จะถึงนี้ต้องชำระทีเดียว 3 งวด รวมเป็นเงินจำนวน 3,201.33 ล้านบาท ส่วนประเด็นอื่นยังไม่มี เพราะยังไม่ได้ตกลงอะไรกันไป ในอนาคตอาจปรับสัญญาให้เจรจากันได้ หากมีเหตุสุดวิสัยที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถควบคุมได้ เช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะสัญญามีระยะเวลา 50 ปี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงใด ๆ
Reference: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์