รฟม.เดินหน้าสายสีเขียวโคราช
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา รฟม.จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ การจัดประชุมฯ ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวฯ มีมูลค่าการลงทุนสูง รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา ต่อมาในปี 2564 กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้รฟม.ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม.จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ให้ศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับโครงการฯ
สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ รฟม.ได้นำเสนอผลการศึกษาระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบ คือ 1.ระบบ Steel Wheel Tram รถไฟฟ้ารางเบาหรือรถราง โดยใช้ระบบล้อเลื่อน 2.ระบบ Tire Tram รถรางชนิดใช้ล้อยาง ที่มีระบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคอง และ 3.ระบบ E-BRT (Electric Bus Rapid Transit) รถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ไม่มีราง โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องคือ ด้านวิศวกรรมและจราจร, ด้านการลงทุนและผลตอบแทน และด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมาที่สุดคือ ระบบ E-BRT รองลงมาคือระบบ Tire Tram และระบบ Steel Wheel Tram ตามลำดับ
ทั้งนี้ รฟม.และกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ได้รับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2571
Reference: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น