เอกชนโหม ลงทุน5จี อีอีซี

19 Oct 2021 333 0

          หัวเว่ย หนุนดิจิทัลอีโคโนมี ยกไทยผู้นำอาเซียน

          ภาคเอกชนโหมลงทุน 5จี “ดับบลิวเอชเอ” นำ 5จี ใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งนิคมฯ คลังสินค้า ดาต้าเซ็นเตอร์ “ทรู” ชูพาร์ทเนอร์ชิพ-อีโคซิสเต็มส์ ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 สอดรับนโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่ “หัวเว่ย” ชี้ 5จี เป็นเทคโนโลยีดิสรัปชั่น หนุนดิจิทัลอีโคโนมี เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ยกไทยผู้นำประยุกต์ใช้ 5จี ระดับอาเซียน

          ”กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “EEC Future : 5G…ดันศักยภาพไทยแข่งขัน เวทีโลก” วานนี้ (18 ต.ค.) โดยมีผู้แทนภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการลงทุน 5จี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

          นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยี 5จี เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ รวมถึงการศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐาน 5จี เปิดประตูโอกาสให้การใช้งานในภาคธุรกิจแบบ B2B และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมก้าวไปเป็นถึง 4.0 ได้ โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว ความหน่วงต่ำ และความสามารถ ในการรองรับอุปกรณ์ได้มหาศาล

          ทั้งนี้ ในปี 2030 คาดการณ์ว่าอุปกรณ์ 5G IoT จะมียอดขายในกลุ่ม Industry 4.0 ราว 22.3 ล้านยูนิต รองลงมาเป็นกลุ่ม Smart City, Smart Energy, การใช้งานในออฟฟิศ, Smart Security, ความเชื่อมโยงด้านสุขภาพ และอื่นๆ

          รวมทั้งเมื่อไทยพร้อมในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านสัญญาณ 5G ทำให้กลุ่มบริษัท WHA ปรับแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนี้ โดยธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคต จะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งในตอนนี้บริษัทอีคอมเมิร์ซใหญ่ในเมืองไทยได้ปรับไปเป็น Semi-automate แล้ว โดยในต่างประเทศเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร จะมีการใช้แรงงานคนเพียง 8 คน

          ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เฉพาะในอีอีซี มี 10 นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เกือบ 50,000 ไร่ มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมให้พร้อมรับการเติบโตของกลุ่มลูกค้า ให้กลายเป็น Smart Eco Industrial Estate ทั้งด้าน Smart Factory, Smart energy, Smart mobility และอื่นๆ

          ธุรกิจพลังงาน มีการพัฒนาเป็น Smart Energy แบ่งเป็น 3 เฟส ในเฟสแรกจะเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ในรูปแบบ Solar Roof Top และ Solar Floating ในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนเฟสที่สองทำเรื่อง distribution network มีการทำข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้าเพื่อขายพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ และมีการทำ sand box เรื่องการแลกเปลี่ยนพลังงานให้กับคู่ค้า (peer-to-peer energy trading) ส่วนในเฟส 3 คือการทำระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid control)

          ส่วนสาธารณูปโภคพัฒนาให้เป็น Smart Utility โดยทำเป็น sandbox เพื่อใช้งานในนิคมอุตสาหกรรมและมีแผนจะต่อยอดไปทำภายนอกด้วย อาทิ เรื่องน้ำมีการติดตั้งระบบ SCADA Improvement โดยมีการควบคุมจากส่วนกลางกระจายน้ำไปให้โรงงานต่างๆ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงการจัดการ traffic control และการจัดการมลพิษทางอากาศ

          ส่วนธุรกิจดิจิทัล มีการจัดทำ Data Center 4 แห่ง โดยมีความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทด้านโทรคมนาคม เพื่อศึกษาแนวทางในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในนิคมอุตสาหกรรม เบื้องต้นมีการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือใช้เสาสัญญาณ 5G ร่วมกัน ในพื้นที่อีอีซี

          กลุ่มทรูพร้อมร่วมมือ-สร้างอีโคซิสเต็ม5จี

          นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5จี บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงานเสวนา “EEC Future 5G ดันศักยภาพไทยแข่งเวทีโลก” ว่า กลุ่มทรูมุ่งพัฒนาเครือข่ายอัจฉริยะ ทรู 5จี ที่เร็วแรงกว่า ครบกว่าด้วย 7 ย่านความถี่มากสุดในไทยและครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็มส์ ด้วยการผสานความร่วมมือกับหลายองค์กรผลักดันการนำ 5จี ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย การใช้เทคโนโลยี 5จี ในภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกมิติที่ทรู 5จี ให้ความสำคัญ เพื่อร่วมยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐ

          กลุ่มทรูมองว่า 5จี จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต้องมี 2 คียเวิร์ดสำคัญ คือ “การเป็นพันธมิตร (พาร์ทเนอร์ชิพ)” และ “การสร้างระบบนิเวศ” ให้เอื้อการกับการดำเนินงาน ที่ผ่านมากลุ่มทรูร่วมมือกับ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ที่เชี่ยวชาญระบบโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) และ “เลิศวิลัย” ผู้นำด้านการพัฒนาและออกแบบระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมสร้างต้นแบบ 5จี สมาร์ท แฟคทอรี่ อัตโนมัติเต็มรูปแบบก้าวข้ามข้อจำกัดเทคโนโลยีเดิม

          รวมถึงพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะ ทรู 5จี ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ติดตั้งแบบ Private Network มีความเร็ว ความเสถียรและความปลอดภัยของข้อมูลสูง ร่วมทดสอบและพัฒนาโซลูชั่นสายการผลิตอัตโนมัติ เชื่อมต่อ สั่งงานและควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งหุ่นยนต์เคลื่อนที่ในสายการผลิต (AMR) ในโรงงานแบบอัตโนมัติอย่างไร้รอยต่อผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ

          นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพรับ-ส่งข้อมูลแบบไร้สายเรียลไทม์ รองรับการเชื่อมอุปกรณ์ไอโอทีได้จำนวนมาก พร้อมเทคโนโลยีเออาร์ (AR) เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบระบบโรงงานตลอดห่วงโซ่การผลิตได้ทุกที่ทุกเวลาบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต รวมทั้งมีเทคโนโลยีจัดเก็บ วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ที่ใช้ในการบริหารจัดการโรงงานและช่วยลดต้นทุนธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ นับเป็นการบูรณาการสายการผลิตและเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลล้ำสมัยอย่างลงตัว พลิกโฉมสายการผลิตอัจฉริยะเต็มรูปแบบ และนำไปใช้งานอุตสาหกรรมได้แท้จริง

          ดัน 5จี สู่ 6 ประสบการณ์อัจฉริยะ

          นายพิรุณ กล่าวว่า คลื่นความถี่ทั้ง 7 ย่านที่มีอยู่ พร้อมผสานการทำงานด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ สามารถรองรับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวไทย ตลอดจนการใช้งานใน ภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังมุ่งสู่ Industry 4.0

          ”วันนี้ ทรู 5จี เดินหน้าร่วมขับเคลื่อน 5จี ของประเทศให้ก้าวหน้าต่อเนื่อง มุ่งให้เกิดความร่วมมือ กับพันธมิตรชั้นนำในการพัฒนา 5จี ยูสเคสที่หลากหลาย และการสร้างชุมชน 5จี ที่จะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศ สิ่งที่กลุ่มทรูให้ความสำคัญ คือ การเจาะลึกครอบคลุม 6 มิติการใช้งาน ยกระดับเมืองอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ การศึกษาอัจฉริยะ อุตสาหกรรมอัจฉริยะ คุณภาพชีวิตอัจฉริยะ และการค้าปลีกอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่ของการนำนวัตกรรม 5จี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม” นายพิรุณ กล่าว

          นอกจากนี้ ยังมองโครงการสร้างนวัตกรและผู้ประกอบการเทครุ่นใหม่ ที่จะต่อยอด 5จี กับเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ เอไอ,โรโบติก,ดาต้า อนาไลติกส์ และสมาร์ทไอโอที สร้างสรรค์นวัตกรรม 5จี ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย ทั้งเป็นการร่วมพัฒนาสตาร์ทอัพไทยสู่ระบบนิเวศเพื่อการพัฒนา 5จี เต็มรูปแบบ

          อาเบล ชี้5จีรากฐานทุกมิติ ‘ดิจิทัล’

          นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า 5จี เป็นเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย ตัวจักรในการขับเคลื่อนดิจิทัลอีโคโนมี เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การเติบโตภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตคนไทย

          “5จี ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่เป็นรากฐานการพัฒนาดิจิทัลทุกอุตสาหกรรม เบื้องหลังความสำเร็จดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นและการปรับใช้เทคโนโลยียุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ เอไอ รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลอีโคซิสเต็มส์ในภาพรวม”

          หัวเว่ยมีมุมมองว่า ไทยมีศักยภาพเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน หากมีการขับเคลื่อนอย่างถูกต้อง ภายใน 5 ปีจะทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมี นัยสำคัญ โดยความสามารถทางดิจิทัลสามารถขยับจากอันดับที่ 39 ไปเป็น 30 การจ้างงานทางด้านไอทีจากอันดับที่ 58 ไปเป็น 40 ขณะที่ คุณภาพแรงงานจะดีขึ้นจาก 55 เป็น 40

          ”ด้วยเทคโนโลยี 5จี โลกจะเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ มีส่วนสำคัญต่อการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีดีพีช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้เร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ไทย”

          หัวเว่ย ยกไทยผู้นำ5จีอาเซียน

          สำหรับหัวเว่ย พันธกิจมุ่งสร้างการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย โดยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ เอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยี 5จี ไปปรับใช้ สร้างยูสเคส ทั้งมิติการพัฒนาธุรกิจ นิวเอสเคิร์ฟและการใช้ชีวิต ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้ามากจากที่มีส่วนทำงานในหลายโครงการในไทย เช่น การพัฒนาอีอีซี ภาคการเกษตร ยานยนต์ เฮลธ์แคร์ โดยกล่าว ได้ว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี ระดับอาเซียน

          ”เรามีแผนเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับผลักดันการเติบโตให้ไทย ภายใต้อีโคซิสเต็มของหัวเว่ยและพันธมิตร รวมถึงประสบการณ์ระดับโลก เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยสร้างโอกาส ยกระดับศักยภาพ และพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้น”

          ทั้งนี้ ข้อมูลโดยสมาคมจีเอสเอ็มเอเผยว่า ภายในปี 2573 ระดับโลก 5จี อีโคโนมี จะมีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 6% ของจีดีพีโลก ส่วนในไทยมีงานวิจัยระบุว่าภายในปี 2578 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของจีดีพีไทย

          5จีหนุนเมืองอัจฉริยะบ้านฉาง

          นายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะบ้านฉางมี เป้าหมายการพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน โดยได้จัดทำโครงการระบบสาธารณูปโภคด้วยรองรับการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร

          โดยระยะแรกมีการลงทุนตั้งเสา smart pole ไว้ 5 ต้น แล้วในปี 2564 มีงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มงบ 36 ล้านบาท ขยายให้ครอบคลุมในส่วน เทศบาลตำบลบ้านฉางก่อนในช่วงแรก

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button