อสังหาฯปรับตัวร่วมทุนต่างชาติลดเสี่ยงกู้แบงก์

22 เม.ย. 2567 116 0

 

   ธุรกิจอสังหาฯ ระบุรายกลาง-เล็ก ขอสินเชื่อยาก เน้นเจรจาแบงก์รายโปรเจกต์ พร้อมเปิดทางพันธมิตร “ร่วมทุน“ลดความเสี่ยงเปิดโครงการใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจ

   ปัจจุบันการระดมทุนของผู้ประกอบการภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาโครงการ แหล่งเงินทุนหลักของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดฯ ยังคงเป็นการขอสินเชื่อผ่านธนาคาร รวมทั้งนิยมออกหุ้นกู้ ซึ่งปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมา และปัจจัยลบต่างๆในตลาดฯ ทำให้หุ้นกู้ค่อนข้างขายยาก ซึ่งอีกช่องทางสำคัญที่ได้รับความนิยม คือ การหาผู้ร่วมทุน ทั้งในและต่างประเทศร่วมพัฒนาโครงการ

    นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย ระบุ ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้การขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ยากขึ้น โดยดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่มีโอกาส ในการขอสินเชื่อได้มากกว่ารายกลาง และเล็ก ขณะที่การออกหุ้นกู้ก็ลำบากเช่นกัน ทำให้ซัพพลายใหม่ที่เข้ามาในตลาดปีนี้ ไม่มากเหมือนก่อน

    “การหาเงินทุนจากต่างชาติมาพัฒนาโครงการเป็นเรื่องยาก เพราะดอกเบี้ยไม่ได้ถูก ไม่คุ้มที่จะกู้เพื่อมาพัฒนาโครงการ หนทางเดียวคือการทำสินเชื่อโครงการ หรือ Project Financing ดีกว่า”

      ในส่วนของศุภาลัยไม่มีปัญหาด้านการขอสินเชื่อ ซึ่งปีนี้มีการโอนเพิ่มขึ้นและภาระหนี้ต่ำอยู่แล้ว ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อโครงการใหม่ แต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอสังหาฯ ยังเป็น K-Shaped สะท้อนว่าตลาดยังไปได้ในส่วนของ “เค” ขาบน ส่วน “เค” ขาล่าง ค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดีทั้งตลาด

      เสนาฯดึงต่างชาติร่วมทุนลุยโครงการ

      นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เสนาฯ ได้ปรับตัวรับมือภาวะโลกผันผวนในทุกมิติ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต โดยการเพิ่มสัดส่วนการร่วมทุนในโครงการใหม่ ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านแนวราบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80-90% จึงสามารถพัฒนาโครงการได้ในจำนวนมากขึ้นแต่ใช้เงินลงทุนลดลง

     สำหรับพันธมิตรหลัก คือ ฮัน คิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป (HHP) ในการร่วมลงทุนในโครงการใหม่ๆ ทำให้เสนาฯ มีมูลค่า Asset ในปัจจุบันสูงถึง 51,239 ล้านบาท หรือเติบโต 43%

    “กลยุทธ์นี้เป็นการมองระยะยาว เพื่อกระจายความเสี่ยง และลดการลงทุน ซึ่งปีนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบที่รุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ จึงต้องระวังกระแสเงินสดให้ดี เพราะการขอสินเชื่อในรูปแบบ Project Lone ยากขึ้น เพราะธนาคารกังวลหนี้เสีย ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน”

     รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อยาก

     นายวัฒนพล ผลชีวิน นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี ระบุ ปัจจุบันการขอสินเชื่อมาพัฒนาโครงการยากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะแหล่งที่มาของเงินทุนมาจากธนาคารเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทใดมีผลประกอบการดีหรือไม่ดี และต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงสินเชื่อยาก ทำให้เสียเปรียบรายใหญ่ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีหลายช่องทางในการระดมทุน เช่น ออกหุ้นกู้ แต่แนวทางที่บริษัทนอกตลาดนิยม คือการร่วมทุน เพื่อหาผู้ร่วมทุนที่มีความแข็งแรงทางการเงินทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาช่วยเหลือ ถือเป็นวิธีการเอาตัวรอดในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี

      ดึงต่างชาติร่วมทุนลดความเสี่ยง

      นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ระบุ สถานการณ์ตลาดอสังหาฯปีนี้ถือเป็นปีปราบเซียน ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังกระแสเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ขณะที่ การพัฒนาโครงการเน้นร่วมทุนเพื่อลดความเสี่ยง ปัจจุบันกลุ่มบริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัทจากญี่ปุ่น 3 ราย คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 28,120 ล้านบาท โดยมีรายได้ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากโครงการร่วมทุนเติบโต 24%

     นายพงศ์ศักดิ์ สวาทยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพลินพัฒน์ แอสเสท จำกัด ผู้ประกอบการขนาดกลาง ระบุ การระดมทุนพัฒนาโครงการโดยหลักมาจากธนาคาร ซึ่งไม่กังวลเพราะบริษัทมีเครดิตดีมาตลอด รวมทั้งมีพันธมิตรที่ดี และมีญาติพี่น้องที่สามารถสนับสนุนได้ หากโปรเจกต์ไม่ใหญ่มากสามารถหยิบยืมได้แต่ต้องให้ดอกเบี้ยดี

     “ในสายตาคนภายนอกอาจคิดว่ารายเล็ก อยู่ยาก เพราะรายใหญ่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด แต่จากประสบการณ์หากสินค้ามีคุณภาพ ราคาคุ้มค่า สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ ไม่ได้ใช้กลยุทธ์ราคาขายถูกกว่ามาสู้กับรายใหญ่ แต่ต้องมีแบบบ้าน ฟังก์ชันการใช้งาน ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”

     ซีวิลฯจี้รัฐเร่งใช้งบฯประมูลงาน

     นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง ระบุ ภาพรวมธุรกิจของบริษัทในขณะนี้ยังมีกระแสเงินสดเป็นบวก ที่ผ่านมาจ่ายเงิน ค่าจ้างเหมาช่วงให้กับซับคอนแทรคตรงเวลาตามสัญญากำหนด ถือว่ายังดำเนินงานอยู่ในจุดที่ดี เป็นไปตามเป้าหมาย

    ส่วนแนวโน้มธุรกิจหลังจากนี้ หากภาครัฐจัดใช้งบประมาณ 2 ปีที่ค้างอยู่ จะทำให้เกิดการเปิดประมูลงานภาครัฐเพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสต่อธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากมีการจัดใช้งบรวม 2 ปี เชื่อว่า ผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างมาก

    ในฐานะเอกชนผู้รับเหมางานสัญญาภาครัฐ มีความหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณชดเชยค่าก่อสร้าง หรือ ค่าเค ซึ่งเป็นเงินส่วนที่เอกชนควรจะได้รับ หากรัฐไม่เร่งเบิกจ่ายอาจทำให้ธุรกิจรับเหมาต้องเหนื่อยและบริหารสภาพคล่องเพิ่มเติม

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย